เครื่องประดับของหญิงสาว : มรดกอันล้ำค่าที่ส่งผ่านความรักในครอบครัว
การแต่งกายของสตรีบาบ๋าภูเก็ตนอกเหนือจากอัตลักษณ์ที่ได้เคยกล่าวไว้ในบทความ “บาบ๋าภูเก็ต ตัวตนที่แตกต่าง (3)” แล้วยังมีสิ่งที่น่าสนใจอันไม่อาจมองผ่านเลยไปได้คือเรื่องเครื่องประดับของสตรีที่เปี่ยมด้วยคุณค่าดั่งมรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนตัวตนแห่งหญิงสาวและเรื่องราวในครอบครัวได้เป็นอย่างดี
เครื่องประดับของสตรีเพอรานากันมีรูปแบบและธรรมเนียมการสวมใส่ที่น่าสนใจในรายละเอียดเริ่มตั้งแต่วัยเด็กที่ผู้ใหญ่มักให้สวมใส่กำไลข้อเท้าและสร้อยคอตามฐานะของแต่ละบ้าน หากว่ามีงานหรือโอกาสพิเศษก็จะได้แต่งตัวสวยงามมากขึ้น เมื่อโตมาอีกนิดก็มักเจาะหูทำให้เด็กสาวคุ้นชินกับความสวยงามตั้งแต่วัยเยาว์
โดยทั่วไปหญิงเพอรานากันที่สวมชุดประจำวันเช่นเสื้อเคบายาและนุ่งผ้าปาเต๊ะมักนิยมติด ”เข็มกลัดชุด 3 ตัว” ที่มีสายคล้องเชื่อมต่อกัน ใช้ติดเสื้อแทนกระดุม หรือตกแต่งชุดให้สวยเด่นขึ้น มีทั้งลวดลายดอกไม้ เถาวัลย์ หรือเป็นโบว์ ติดเสื้อแล้วดูงามอ่อนช้อย หากสวมเสื้อคอตั้งแขนจีบจะติดกระดุม “กิมตู้น” หรือกระดุมทอง ส่วนใหญ่มี 5 เม็ด ของดั้งเดิมจะเป็นกระดุมชุดแบบถอดได้ นิยมใช้เหรียญทองซึ่งเป็นสกุลเงินอังกฤษมาทำเป็นกระดุมเสื้อบ่งบอกถึงความร่ำรวย หรืออาจเป็นกระดุมทองที่ช่างทองประดิษฐ์ขึ้นเป็นลายดอกไม้ตกแต่งอัญมณีตามฐานะ ปัจจุบันใช้กระดุมทั่วไปที่มีสีทองมาทดแทน
สำหรับสร้อยคอก็มีการสวมใส่ให้เข้ากับการแต่งกายแต่ละชุดอย่างกลมกลืนกล่าวคือชุดย่าหยามักสวม“สร้อยหลั่นเต่ป๋าย” หรือสร้อยกาหลง เนื่องจากเสื้อเคบายามีลักษณะคอแหลมเมื่อสวมสร้อยที่เป็นแผงรี โค้งตามลำคอจะเข้ากันเป็นอย่างดี สร้อยหลั่นเต่ป๋ายทำด้วยทองฉลุลายเครือเถา ฝังเพชรตามดอกไม้และก้านใบ หรืออาจจะมีสายห้อยตุ้งติ้งต่อจากแผงลายฉลุ ส่วนสร้อยทองเส้นยาวที่เรียกว่า “โกปี้จี๋” นั้นใช้สวมเมื่อแต่งชุดครุยใหญ่ซึ่งเป็นการแต่งตัวแบบเต็มยศ นอกจากนี้ ยังมี “สร้อยทองห้อยจี้” ซึ่งนิยมใส่กับชุดคอตั้งแขนจีบ โดยตัวจี้นั้น ในอดีตจะนำเหรียญทองซึ่งเป็นเงินต่างชาติมาทำจี้ห้อยคอ อาจจะตกแต่งลวดลายเลี่ยมทองเพิ่มความสวยงามและมูลค่าด้วย
ส่วน “ตุ้มหู” มีทั้งแบบห้อยระย้าที่ส่วนใหญ่เป็นลายดอกไม้ดูอ่อนหวานขับเน้นความเป็นผู้หญิง และตุ้มหูแบบติดหูเรียกว่าตุ้มหูหางหงส์ เป็นตุ้มหูทองตกแต่งด้วยเพชรซีก ส่วน”เข็มขัด” นั้นมักนิยมคาดเข็มขัดโบราณฉลุลายแบบมีข้อต่อซึ่งอาจเป็นเข็มขัดทอง เข็มขัดเงิน หรือเข็มขัดนากตามแต่ฐานะ นอกจกนี้ยังมี “แหวน” ที่นิยมใส่กับชุดพื้นเมืองภูเก็ต คือ แหวนบาเยะ แหวนขนมชั้น หรือ แหวนหัวเข้ เป็นแหวนแบบเดียวกันคือแหวนเพชรที่เรียงเม็ดเพชรเป็นทรงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดแนวยาว ส่วนแบบที่ดูเล็กลงมาก็มีแหวนดอกพิกุล สตรีสมัยก่อนนิยมสวมแหวนหลายนิ้วเพื่อบ่งบอกฐานะอันมั่งคั่ง นอกจากนี้ยังมี “กำไลข้อมือ” ซึ่งสตรีบาบ๋านิยมสวมกำไลแบบหนามีลายฉลุหรือใส่สร้อยข้อมือมีตุ้งติ้ง กำไลและสร้อยข้อมือนั้นสวมได้กับทุกชุด ส่วนกำไลข้อเท้าจะใส่กับชุดครุยใหญ่ ชุดเจ้าสาว เป็นกำไลทองหรือกำไลนาก มีลวดลายบนตัวกำไลทั้งลายดอกไม้ ลายก้อนเมฆ ยิ่งถ้าเป็นฝีมือช่างทองโบราณยิ่งละเอียดสวยงามดูมีราคา
สำหรับหญิงสาวที่สวมชุดพิธีวิวาห์มักมีเครื่องประดับที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นแม่ หนึ่งในเครื่องประดับที่ขาดไม่ได้ก็คือ “โกสัง” (kerosang) ซึ่งเป็นเข็มกลัดที่เปรียบเสมือนเป็นกระดุม ในสมัยที่นิยมสวมใส่เสื้อบาจู ปันจางหรือเสื้อครุยยาวนั้นโกสังมีทั้งหมด 5 ชิ้น ต่อมาประดับโกสังเพียง 3 ชิ้น โดยที่ชิ้นบนสุดมีรูปร่างเหมือนหัวใจบ้างก็ว่าคล้ายผลลูกท้อที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความมีอายุยืนยาว ส่วนชิ้นที่เหลือเป็นเข็มกลัดกลมซึ่งเข้าชุดกันเหมือน “แม่-ลูก” (ibu dan anak) ประดับรอบอกด้วยเข็มกลัดรูปดาวที่เรียกว่าปิ่นตั้ง (bintang) ตรึงไว้กับสร้อยทองเส้นยาวที่เรียกว่าโกปี้จี๋ด้วย
นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับศีรษะอันเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สตรีบาบ๋าให้ความสำคัญในพิธีแต่งงาน “ฮั่วก๋วน” คือเครื่องประดับที่ครอบมวยเจ้าสาวซึ่งมีดอกไม้ไหวรอบศีรษะทำจากดิ้นเงินดิ้นทองประดับด้วย หงส์ มีความหมายถึงสัตว์ที่ยิ่งใหญ่และมีเสียงกังวาน สะท้อนถึงความหมายให้เจ้าสาวรู้จักมีปิยะวาจาเมื่อเข้าสู่บ้านของเจ้าบ่าว ด้านหน้าประดับด้วยดอกไม้และผีเสื้อที่แทนความผูกพัน ส่วนการสั่นไหวของดอกไม้แทนความตื่นเต้นของเจ้าสาว
ในอดีตเครื่องประดับที่กล่าวมานั้นมักทำจากทองโดยมีเปอร์เซ็นต์ของทองต่างกันไปตามแต่ฐานะส่วนอัญมณีที่สตรีบาบ๋านิยมก็คือ “เพชร” ในปัจจุบันเครื่องประดับที่ผลิตซ้ำขึ้นมานั้นมักทำจากวัสดุอื่นที่มีสีทอง ดังนั้นหากสตรีบาบ๋าบ้านใดได้รับการส่งมอบเครื่องประดับเหล่านี้มาจนรุ่นปัจจุบันนอกจากจะบ่งบอกถึงความมีฐานะแล้วยังเป็นการรักษาคุณค่าแห่งจิตวิญญาณหญิงสาวเพอรานากันที่แม้ในปัจจุบันจะมิได้นำมาสวมใส่ในชีวิตประจำวัน แล้ว แต่การเก็บรักษาไว้ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าลูกหลานบาบ๋าภูเก็ตจะยังดำรงไว้ซึ่งลมหายใจและจิตวิญญาณเพอรานากันอันแสดงถึงความเคารพ ความผูกพันและความกตัญญูต่อบรรพบุรุษไปอีกนานแสนนาน
ข้อมูลอ้างอิง
https://sites.google.com/site/karetengkaykhxngchawphuket/kheruxng-pradab/hlan-tae-pa-y
https://thehumans.sac.or.th/sac/exhibition/15
http://www.peranakan-kl.org