ภาษาภูเก็ต : ลมหายใจแห่งความเป็นเพอรานากัน
ภาษาเป็นหนึ่งในเครื่องหมายแสดงความเจริญแห่งอารยธรรมมนุษย์ ชนชาติที่มีภาษาเป็นของตนเองก็เปรียบได้ดังหญิงสาวที่มีอาภรณ์งดงามประดับเรือนร่าง ยิ่งอาภรณ์ปราณีตงดงามย่อมแสดงถึงความสร้างสรรค์แห่งอารยธรรม เปรียบดังภาษาที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยย่อมสะท้อนเรื่องราวแห่งความเจริญหรือเสื่อมถอยของชนชาตินั้นได้เป็นอย่างดี
กลุ่มภาษาในโลกมีมากกว่า 150 ตระกูล กว่า 5,000 ภาษา ซึ่งภาษาที่ใช้มากที่สุดคือภาษาจีน รองลงมาคือภาษาอังกฤษและภาษาฮินดี จากข้อมูลของ ethnologue ภาษาไทยเราอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษา Tai-Kadai ซึ่งมีทั้งภาษาจีน อินเดีย เวียดนาม พม่า ไทย ลาว
ภาษาภูเก็ตเป็นภาษาไทยท้องถิ่นที่มีการผสมผสานหลากหลายไม่ว่าจะเป็นสำเนียงท้องถิ่นและคำศัพท์ทางใต้ ทั้งยังมีอิทธิพลของศัพท์ภาษาจีนฮกเกี้ยน มลายู รวมทั้งภาษาอังกฤษที่ส่งผ่านมาทางปีนัง ทั้งหมดเป็นส่วนสำคัญที่แสดงชัดถึงความเป็นเพอรานากันภูเก็ตที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน
ชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่ภูเก็ตมักมาจากปีนังทำให้มีคำศัทพ์ที่เป็นคำยืมจากภาษามลายูและภาษาอังกฤษ แต่ด้วยการออกเสียงที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์ทำให้คำศัพท์เหล่านั้นกลายมาเป็นภาษาภูเก็ตนั่นเอง
ตัวอย่างคำยืมที่มาจากภาษามลายู เช่น Nanas หรือในภาษาภูเก็ตออกเสียงว่า หย่านัด หมายถึงสัปปะรดนั่นเอง Tabek ที่ในภาษาภูเก็ตออกเสียงว่า ตาเบ๊ะ หมายถึงวันทยาหัตถ์นั่นเอง หรือคำยืมที่มาจากภาษาอังอังกฤษเช่น Coffee ในภาษาภูเก็ตออกเสียงว่า โกปี ซึ่งหมายถึง กาแฟ นั่นเอง
ในส่วนของรูปประโยคที่ใช้ในภาษาภูเก็ตนั้นมีการยืมใช้คำศัพท์ภาษาจีนฮกเกี้ยนเข้ามาแทนคำไทยถิ่นใต้ในประโยคมากที่สุดเนื่องด้วยการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวจีนฮกเกี้ยนนั่นเอง ยกตัวอย่างประโยคที่ใช้ภาษาจีนฮกเกี้ยนแทนคำไทยในประโยค เช่น
ภาษาภูเก็ต ภาษาใต้ ภาษากรุงเทพฯ
อีเฉี้ยข้าวหว้า แกเลี้ยงข้าวฉ้าน เขาเลี้ยงข้าวฉัน
ตาหล้ายแล ลองแล ทดลองดู
นอกจากวิถีชีวิตที่ยังปรากฏร่องรอยความเป็นเพอรานากันของชาวภูเก็ตในทุกวันนี้แล้ว ภาษาภูเก็ตเป็นหนึ่งในภาษาตระกูลไทยภาคใต้ที่เป็นเอกลักษณ์และโดดเด่น หากนับเฉพาะสำเนียงภาษาไทยถิ่นใต้ย่อมถือว่าเป็นหนึ่งในภาษาไทย หากมองอย่างเฉพาะเจาะจงในรายละเอียดคำศัพท์ย่อมถือได้ว่ามีอัตลักษณ์เฉพาะตนเพราะมีทั้งภาษาจีนฮกเกี้ยน ศัพท์พื้นเมือง มลายู รวมทั้งภาษาอังกฤษ ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นความงดงามทั้งภาษาและวิถีชีวิตของบาบ๋าภูเก็ตที่แตกต่างจากชาวเพอรานากันในแถบช่องแคบมะละกา ซึ่งมีการผสมผสาน ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน แม้ในวันนี้คนรุ่นใหม่อาจใช้ชีวิตไปตามกระแสสังคมเมืองใหญ่ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลง แต่หากในครอบครัวยังคงพูดคุยกันด้วยภาษาภูเก็ตก็นับได้ว่าลมหายใจแห่งความเป็นเพอรานากันยังคงมีอยู่อย่างงดงามจากรุ่นสู่รุ่นอย่างแน่นอน
เอกสารอ้างอิง
https://www.ethnologue.com/subgroups/tai-kadai