ตันเช็กอุด
ตันเช็กอุดเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพมาตั้งรกรากที่เมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านได้เดินทางโดยเรือสำเภาจากฮกเกี้ยนมายังสิงคโปร์ ปีนัง จนกระทั่งมาขึ้นฝั่งที่ภูเก็ต ในระหว่างนั้นมีการทำเหมืองแร่ดีบุกในภูเก็ต มีแรงงานชาวจีนเป็นจำนวนมาก ต่อมาตันเช็กอุดย้ายไปที่ ต.กะไหล อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ได้สมรสกับนางขอม ณ พัทลุง (ผู้สืบเชื้อสายมาจากสุลต่าน สุไลมาน) จากนั้นได้ย้ายกลับมายังภูเก็ต มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น 6 คน
ตันเช็กอุดหรือที่ชาวจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า “พระจีนเสื้อดำ” เป็นผู้ทรงศีล มีความรู้ด้านหนังสือ กาพย์โคลง ประวัติศาสตร์จีน ทำรายได้จากการเขียนคำอวยพร โคลงกลอน ให้แก่ชาวจีนอพยพในภูเก็ต กล่าวกันว่า ตกเย็นชาวจีนผู้ใช้แรงงานจะมาพักผ่อนบริเวณวงเวียนสุรเดช(ในปัจจุบัน) และที่นั่น ตันเช็กอุด มักจะเล่านิทาน เขียนกาพย์โคลงให้แก่ชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านั้น
กล่าวกันว่าท่านเป็นผู้มีเมตตาธรรมเปี่ยมด้วยกรุณา แม้ว่าตนเองจะไม่มีทรัพย์มากนัก ก็มักจะช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก อยู่เสมอ ความเมตตาและมีคุณธรรมของท่านนี่เองได้ตกทอดและส่งผ่านมายังบุตรธิดาของท่าน ทายาทรุ่นหลังได้ตระหนักถึงคุณความดีและสืบต่อความดีงามเหล่านั้นมายังทายาทรุ่นต่อไป ตันเช็กอุดเสียชีวิตในราวปี พ.ศ. 2440