อั่งกู้หรือเต่าสีแดง : จิตวิญญาณความกตัญญูอันปรากฏในเทศกาลพ้อต่อของชาวภูเก็ต

อั่งกู้หรือเต่าสีแดง : จิตวิญญาณความกตัญญูอันปรากฏในเทศกาลพ้อต่อของชาวภูเก็ต

หากกล่าวถึงเทศกาลพ้อต่อหลายคนอาจสงสัยด้วยชื่อที่ไม่คุ้นเคยนักแม้ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่อย่างผสมกลมกลืนมาอย่างยาวนานก็ตาม แต่หากอธิบายลงไปในรายละเอียดว่าเทศกาลพ้อต่อเป็นประเพณีที่เกิดขึ้นในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินจีน เพื่อบูชาและเซ่นไหว้บรรพบุรุษรวมถึงบรรดาผีไม่มีญาติด้วย หลายคนคงเดาได้ว่าหมายถึงเทศกาลสารทจีนนั่นเอง

เทศกาลพ้อต่อ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ 2 ชื่อ คือ พระพุทธศาสนานิกายมหายาน เรียกว่า เทศกาลอุลลัมพนหรือภาษาฮกเกี้ยนคือ อูหลานเซ่งโห่ย แปลว่า งานชุมนุมอุลลัมพน ส่วนของลัทธิเต๋าจะเรียกเทศกาลนี้ว่า ตงหง่วนพ้อต่อ ในระยะแรกชื่อเรียกของเทศกาลดังกล่าวใช้คำเต็มวลีว่า อูหลานผูนเซ่งโห่ย จนมาภายหลังกร่อนเหลือเพียงว่า อูหลานเซ่งโห่ย ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีความหมายต่อมาจึงเรียกว่า เทศกาลพ้อต่อ ซึ่งคำว่า พ้อต่อ นั้นกร่อนมาจาก พ้อต่อจ่งเซ้ง ตามสำเนียงชาวจีนฮกเกี้ยนอันมีความหมายว่า กิจกรรมโปรดสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากห้วงแห่งความทุกข์โดยทั่วกัน

นอกจากไหว้เพื่อเซ่นไหว้บูชาวิญญาณบรรพบุรุษแล้วเทศกาลพ้อต่อยังมีวัตถุประสงค์อีกประการคือการทำบุญอุทิศส่วนบุญให้กับวิญญาณไร้ญาติ จึงได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ซีโกวกุ่ย มีความหมายตามภาษาจีนฮกเกี้ยนแปลว่า เทศกาลอุทิศส่วนบุญให้วิญญาณโดดเดี่ยวไร้ญาติด้วย และความเชื่อที่ว่าประตูผีจะเปิดออก เหล่าดวงวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับที่อยู่ในเมืองผี จะกลับมาเยี่ยมโลกมนุษย์ โดยดวงวิญญาณเหล่านั้นจะท่องเที่ยวอยู่ในโลกมนุษย์เป็นเวลา 1 เดือน ดังนั้นในช่วงดังกล่าวทุกคนก็จะกลับมาอยู่บ้านกลังพระอาทิตย์ตกดินเพื่อหลีกเลี่ยงเคราะห์ร้ายที่อาจเกิดขึ้น หากถูกดวงวิญญาณเหล่านั้น ชง หรือทำให้เกิดสิ่งไม่ดีได้

ในการจัดพิธีบวงสรวงวิญญาณบรรพบุรุษนั้นลูกหลานจะทำการตกแต่งแท่นบูชาและเครื่องกงเต็กตามบ้านเรือน ส่วนดวงวิญญาณที่ไม่มีญาตินั้นแต่ละบ้านจะจัดอาหารคาวหวานเซ่นไหว้ไว้หลังบ้าน เครื่องเซ่นไหว้ในประเพณีพ้อต่อ ประกอบด้วย ปลา หมู เป็ด ไก่ ผัก ผลไม้ และ น้ำชา ขนมรวม (เต่เหลี่ยว) มิดเจี่ยน (คล้ายเครื่องบายศรีของไทย) ขนมเต่า (อั่งกู้) ขนมฟู (ฮวดโก้ย) ขนมจ่าง (กี้จ่าง) ผลไม้ (สับปะรด กล้วยข้าว ส้ม) ของหวานคาว เหล้าจีน ซึ่งข้าวของที่ตั้งบนโต๊ะบูชาทุกอย่างจะต้องมีธูปปักไว้อย่างละ 1 เล่ม เมื่อเซ่นไหว้แล้ว ก็จะทำการเผากระดาษเงิน อันหมายถึงการแจกจ่ายค่าเดินทางให้แก่เหล่าดวงวิญญาณ

นอกจากนี้ยังมีการจัดพิธีไหว้เจ้าที่อ๊ามหรือศาลเจ้าหลายแห่งในจังหวัดภูเก็ต โดยมีความเชื่อว่าขนมรูป “เต่าสีแดง” หรือ อั่งกู้ ซึ่งจัดเป็นเครื่องบวงสรวงจะทำให้อายุยืนเหมือนเต่านั่นเอง อั่งกู้หรือขนมเต่าแดงที่คนนิยมนำไปเป็นเครื่องบวงสรวงที่ศาลเจ้าทำด้วยแป้งข้าวสาลี ผสมกับน้ำตาลจากนั้นปั้นเป็นตัวหรือเข้าพิมพ์อัดเป็นรูปเต่ามีขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้างตามใจชอบย้อมด้วยสีแดงและอีกลักษณะหนึ่งคือการใช้แป้งมาทำเป็นรูปคล้ายเต่าแล้วใส่ไส้ถั่วเขียวข้างใน ขนมเต่าแดงที่มีขนาดใหญ่จะเรียกว่า “ตั่วกู้” มีตำนานว่าเมื่อครั้งพระถังซำจั๋งเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกที่เกาะลังกาขณะนั่งเรือสำเภาได้เกิดมีพายุใหญ่จนเรือจวนเจียนจะอับปาง เมื่อท่านตั้งจิตอธิษฐานก้ปรากฏว่ามีเต่าตัวมหึมาว่ายน้ำนำทางให้เรือสำเภาจนสามารถไปถึงเกาะลังกาได้ ส่วนอีกความเชื่อคือ คนจีนนั้นเชื่อว่าเต่าเป็นสัตว์อายุยืน การทำพิธีต่างๆ จึงนิยมนำเต่ามาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีด้วย

แม้ในปัจจุบันความเชื่อบางอย่างเช่นการกลับบ้านหลังพระอาทิตย์ตกดินอาจหมดไปแต่การจุดหรือเปิดโคมไปไว้หน้าบ้าน ตามศาลเจ้า เพื่อเป็นการส่องทางให้แก่ดวงวิญญานที่ขึ้นมาจากปรภพให้มารับอาหารและทานที่ได้กระทำอุทิศให้ก็ถือเป็นการปฏิบัติสิ่งดีงามตามบรรพบุรุษ ถือเป็นการสืบสานประเพณีที่ส่งผ่านมาจากรุ่นสู่รุ่นอันแสดงให้เห็นถึงความกตัญญูของลูกหลานชาวภูเก็ตได้เป็นอย่างดี

 

 

ข้อมูลอ้างอิง
https://th.wikipedia.org/wiki/เทศกาลพ้อต่อ
https://phuketindex.com/travel/photo-stories/s-fes-portor/index-th.htm
https://www.khaophuket.com/