ไทยใหม่ ชาวเล กลุ่มชาติพันธุ์อันเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ภูเก็ตกับวัฒนธรรมการครอบครองพื้นที่ (2)

ไทยใหม่ ชาวเล กลุ่มชาติพันธุ์อันเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ภูเก็ตกับวัฒนธรรมการครอบครองพื้นที่ (2)

วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเลหรือกลุ่มไทยใหม่นั้นผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกับผืนแผ่นน้ำอันกว้างใหญ่ การอพยพโยกย้ายบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันทำให้พวกเขาเป็นนักว่ายน้ำและดำน้ำที่เชี่ยวชาญมากจนมีคำกล่าวว่า เด็กๆชาวเลว่ายน้ำเป็นก่อนเดินได้เป็นเสียอีก พวกเขาใช้เรือเดินทางไปตามที่ต่างๆโดยมีความรู้พื้นฐานเรื่องทิศทางลม กระแสน้ำ การโคจรของดวงจันทร์และดวงดาว การพึ่งพาและอ่อนน้อมต่อธรรมชาติทำให้ชาวเลดำรงชีิวิตและใช้ทรัพยากรบนชายฝั่งโดยที่ไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อทรัพยากรเหล่านั้นด้วย

แม้ว่าในภาพรวมกลุ่มชาวเลทั้งสามกลุ่มคือ มอแกน มอแกลนและอุรักลาโว้ยจะมีภาษาและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันทั้งในเรื่องภาษาที่อยู่ในกลุ่มออสโตรนีเชียนเหมือนกันแต่กลุ่มอุรักลาโว้ยก็มีความแตกต่างจากอีกสองกลุ่ม ในส่วนของรูปแบบเรือดั้งเดิมซึ่งถือเป็นพาหนะสำคัญในการดำรงชีพตั้งแต่อดีตนั้นกลุ่มชาวเลใช้เรือไม้ที่มีแจวและใบเรือเหมือนกัน แต่ในความเหมือนแต่ละกลุ่มก็มีอัตลักษณ์ของตนที่คนเฒ่าคนแก่ยังสามารถอธิบายให้ลูกหลานฟังได้ เช่น เรือของกลุ่มมอแกนเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ใช้เรือง่ามหรือเรือไม้ระกำที่มีรอยหยักเว้าที่หัวเรือและท้ายเรือ ส่วนชาวอุรักลาโว้ยใช้เรือต่อด้วยไม้กระดาน และเรือของชาวมอแกลนนั้นเป็นเรือขุดเสริมกราบด้วยไม้กระดาน

ชาวเลมีความเชื่อและพิธีกรรมที่ผูกพันกับสายน้ำแบบเฉพาะตน กล่าวคือ ชาวมอแกนมีพิธีฉลองวิญญาณและพิธีลอยเคราะห์ที่เรียกว่า “ก่าบางชวาย” ส่วนชาวมอแกลนก็มีการไหว้บรรพบุรุษและบนบานวิญญาณหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นกันโดยมีศาลที่เรียกว่า “หลาทวด” และชาวอุรักลาโว้ยมีพิธีลอยเรือ “ปือลาจั๊ก” ซึ่งเป็นที่รู้จักมากกว่าพิธีกรรมของชาวเลกลุ่มอื่นโดยมีการนำข้าว กับข้าว หมากพลู รูปสลักที่เป็นตัวแทนของคนในครอบครัว ข้าวตอก มีการตัดผมและเล็บใส่ลงไปด้วยเชื่อว่าจะเป็นการลอยเคาระห์ออกไปกับเรือด้วย

แม้พิธีกรรมต่างๆจะเห็นได้ชัดเจนว่ามีความแตกต่างกันแต่ทั้งหมดนั้นจัดขึ้นในช่วงระหว่างเดือน 4-6 และเดือน 11-12 อันเป็นช่วงรอยต่อระหว่างลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือ สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขามีความเชื่อที่ผูกพันกับธรรมชาติอย่างเป็นหนึ่งเดียว

วัฒนธรรมและประเพณีตลอดจนพิธีกรรมความเชื่อต่างๆที่กล่าวมานั้นได้พัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามเหตุแห่งพฤติกรรมการใช้ชีวิตในมิติที่เปลี่ยนไปของชาวเลทั้งสามกลุ่ม การโยกย้ายที่อยู่มีเหตุผลหลายประการต่างกันออกไปไม่ว่าจะเป็น ความต้องการเข้าถึงทรัพยากรอันหลากหลายมากขึ้น การเดินทางไปแลกเปลี่ยนส่ิงของกับกลุ่มอื่นหรือพ่อค้า การอพยพย้ายถิ่นตามฤดูกาล การโยกย้ายพื่อหลบหนีโจรสลัด เพื่อหนีโรคระบาด เพื่อเยี่ยมญาติ หรือเพื่อหลบหนีความขัดแย้ง แต่ในปัจุบันชาวเลได้ลงหลักปักฐานตามสังคมที่เปลี่ยนไป แน่นอนว่าเงื่อนไขบางอย่างอันสอดคล้องกับธรรมชาติย่อมเปลี่ยนตามไปด้วย เริ่มจากเมื่อมีถิ่นฐานถาวรการประกอบอาชีพก็เปลี่ยนไป จากที่ต้องใช้ทักษะซึ่งเกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญทางทะเลพวกเขาก็หันมายึดอาชีพรับจ้างและอาชีพอื่นอันเป็นการส่งผลโดยตรงกับภูมิปัญญาการต่อเรือดั้งเดิม ปัจจุบันชาวเลนิยมใช้เรือหัวโทงที่หาซื้อและดูแลรักษาง่ายแทนเรือแบบเก่าที่มีขั้นตอนการสร้างที่ซับซ้อนมากกว่าอีกทั้งผู้ที่ชำนาญก็แทบไม่มีเหลือแล้ว

วัฒนธรรมสมัยใหม่และความเจริญทางวัตถุทำให้ความเป็นมนุษย์พัฒนาอย่างก้าวไกล การอยู่ร่วมกันในสังคมมีกฎกติกามากมายขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสังคมและชุมชนนั้นไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เหล่านี้ล่วนเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เราต่างยอมรับ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งที่หลายคนอาจหลงลืมก็คือความเป็นมนุษย์ที่อยู่อย่างพึ่งพาและอ่อนน้อมต่อธรรมชาติก็หายไปด้วยเช่นกัน บางทีความเจริญในแง่หนึ่งก็ทำให้มนุษย์ต้องสูญเสียบางสิ่งบางอย่างไปอยางที่เราต่างก็ต้องยอมรับอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน

 

เอกสารอ้างอิง
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) ทักษะทางวัฒนธรรมชาวเล ร้อยเรื่องราวชาวเล/ นฤมล อรุโนทัย บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน), 2527