ไทยใหม่ ชาวเล กลุ่มชาติพันธุ์อันเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ภูเก็ต กับวัฒนธรรมการครอบครองพื้นที่ (1)
หากนับเวลายาวนานแห่งการก่อร่างสร้างเมืองจวบจนเป็น “ภูเก็ต” ในทุกวันนี้ แน่นอนว่านอกจากบรรพบุรุษชาวจีนฮกเกี้ยนผู้สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจให้กับเมืองแล้ว เราคงไม่อาจลืมกลุ่มคน “ชาวเล” ผู้เดินทางกลางทะเลกว้างรอนแรมผ่านคลื่นลมทำให้ได้ชื่อว่ายิปซีทะเลก่อนจะมีถิ่นพำนักบนแผ่นดินใหญ่ริมฝั่งน้ำตามแนวท้องทะเลอันดามัน ส่วนหนึ่งปรากฏ ณ ผืนแผ่นดินภูเก็ตทั้งชาวอุรักลาโว้ย (Urak Lawoi) มอแกลน (Moklen) และมอแกน (Moken)
บ้านสะปำ บ้านแหลมตุ๊กแก เกาะสิเหร่ และหาดราไวย์คือแหล่งชุมชนชาวอุรักลาโว้ยที่พบได้ในภูเก็ต ส่วนอำเภอตะกั่วป่า บ้านท่าฉัตรไชยและบ้านเหนือคือชุมชนชาวมอแกลนในภูเก็ต นอกจากนี้หาดราไวย์ยังมีชุมชนชาวมอแกนอาศัยอยู่ด้วย
ชื่อชาวเลเหล่านี้ล้วนมีความหมายและที่มาต่างๆกันไปตามแต่ภาษาของตน
อุรักลาโว้ย มีความหมายว่า “คนทะเล” เพราะคำว่า อูรัก แปลว่าคน ส่วนคำว่า ลาโว้ย หมายถึงทะเลจากร่องรอยหลักฐานที่บ่งบอกว่า ชาวเลกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “อูรักลาโว้ย” อพยพเข้ามาอาศัยตามหมู่เกาะต่าง ๆ ในแถบทะเลอันดามันโดยมีเรือ “ปราฮู” เป็นพาหนะ และใช้แฝกมุฝหลังหรือที่เรียกว่า “กาจยัก” ทำเพิงพักชั่วคราวตามชายหาด คนกลุ่มนี้เข้ามาผสมกับชาวเลกลุ่มดั้งเดิมบริเวณหมู่เกาะลันตา หรือ“ปูเลาลอนตา” ตลอดจนคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชน การคำนวณอายุของบรรพบุรุษที่เข้ามาพักพิง ตำนานความเชื่อเกี่ยวกับสถานที่ และชื่อสถานที่ต่าง ๆ บริเวณหมู่เกาะลันตาที่เป็นภาษาอูรักลาโว้ย ก็บ่งบอกว่าชาวเลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แรกๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณหมู่เกาะลันตา แต่ด้วยวัฒนธรรมเร่ร่อนหากินทางทะเลที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ไม่มีวัฒนธรรมในการจับจองพื้นที่เพื่อตั้งถิ่นฐานถาวรในระยะหลังเมื่อหวนกลับมายังแหล่งเดิม มักจะพบว่าชนกลุ่มอื่นเข้ามายึดครองแล้วจึงต้องหาแหล่งพักพิงใหม่
มอแกลน มอแกนตามับ หรือสิงบก ตามตำนานความเป็นมาโดยสรุปกล่าวว่าพ่อตาสามพันผู้เป็นทหารกล้า(บ้างบอกว่าเป็นกษัตริย์) พ่อตาสามพันอยู่ในราชสำนักบริเวณนครศรีธรรมราชในปัจจุบันและมีพี่น้องผู้ชายสามคน ทั้งสามต้องออกไปหาสมบัติล้ำค่าจากที่ต่างๆเพราะมีคนออกอุบายให้ทำ แต่ทั้งสามก็กลับมาที่เมืองอย่างปลอดภัยทุกครั้ง กระทั่งครั้งสุดท้ายได้ออกเดินทางโดยทางเรือและรอดกลับมาโดยมาปลากระเบนยักษ์ศักดิ์สิทธิ์พากลับมาขึ้นบกที่บ้านบางสัก จังหวัดพังงา พ่อตาสามพันจึงถือเป็นบรรพบุรุษของชาวมอแกลน
ชาวมอแกลนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่พูดภาษาในภาษาออสโตรนีเซียน ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย เฉพาะในประเทศไทยจะเรียกรวม ๆ อย่างไม่จำแนกว่า ชาวเล เดิมเรียกว่า ชาวน้ำ ส่วนในพม่าจะเรียกรวมกับมอแกนว่า ซลัง (Selung, Salone, Chalome) และในมาเลเซียจะเรียกว่า โอรังลาอุต (Orang Laut) แปลว่า “คนทะเล”
มอแกน มาจากคำว่า “ละมอ” (ในภาษามอแกน แปลว่า จมน้ำ) และ “แกน” ซึ่งมาจากชื่อของน้องสาวของราชินีซิเปียน ซึ่งถูกราชินีสาปเนื่องจากราชินีซีเปียนผู้ครองแคว้นริมฝั่งทะเลรักกับชายหนุ่มชื่อกามัน ทั้งสองได้ตัดสินใจแต่งงานกันแต่แล้วน้องสาวกลับมาแย่งกามันไป ราชินีซีเปียนจึงสาปให้ทั้งน้องสาวและคนรักมีชีวิตเร่ร่อนในทะเลตลอดไป
ชีวิตของชาวมอแกนเดินทางไปตามเกาะต่างๆ จึงถูกกล่าวขานว่ามีชีวิตคล้ายกลุ่มยิปซีที่พักอาศัยอยู่ไม่เป็นหลักแหล่งแน่นอน และเรียกกันว่า “Sea gypsy” หรือ “ยิปซีทะเล”
ในปัจจุบันเกิดคำว่า “ไทยใหม่” หมายถึงว่าชาวเลได้รับการยอมรับและยกระดับเป็นคนไทย ได้รับสัญชาติไทย พูดสื่อสารด้วยภาษาไทยและได้รับการศึกษาในระบบของไทย น่าสนใจอย่างยิ่งว่าพวกเขามีวิถีการดำรงชีวิตเช่นไร และเหตุใดจึงมีถิ่นฐานท่ี่ถาวรบนฝั่งแทนที่การดำรงชีวิตแบบเดิม
เอกสารอ้างอิง
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) ทักษะทางวัฒนธรรมชาวเล ร้อยเรื่องราวชาวเล/ นฤมล อรุโนทัย บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน), 2527
http://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups