บาบ๋าภูเก็ต ตัวตนที่แตกต่าง (3)
การแต่งกายถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี ซึ่งชาวบาบ๋าภูเก็ตมีรูปแบบการแต่งกายที่ทั้งเหมือนและต่างจากชาวเพอรานากันทั่วไป กล่าวคือ นอกจากผ้าปาเต๊ะที่มีลวดลายงดงามอันเป็นเอกลักษณ์แห่งชนชาวพื้นเมืองและ ผ้าลูกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าป่านรูเบีย และผ้ามัสลิน ถือเป็นตัวชูโรงหลักในการสร้างคุณค่าความงามของเสื้อผ้าสตรีบาบ๋าทั่วไปแล้ว ชาวบาบ๋าภูเก็ตยังมีรูปแบบการแต่งกายเฉพาะตัวที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตนเองอีกด้วย
โดยทั่วไปแล้วการแต่งกายของหญิงสาวเพอรานากันหรือย่าหยามีรูปแบบผสมผสานระหว่างชาวพื้นเมืองคือการนุ่งโสร่ง ส่วนแบบเสื้อนั้นมีทั้งครุยยาว ครุยท่อน เสื้อมือจีบ เสื้อย่าหยาอันประกอบไปด้วย เคบายาลินดา เคบายาบีกูและเคบายาซูแลม
สำหรับบาบ๋าภูเก็ตนั้นมีวิวัฒนาการการแต่งกายอย่างสอดคล้องกับการรับวัฒนธรรมเพอรานากันอื่นๆไม่ว่าจะเป็นสำรับอาหาร ที่อยู่อาศัย ประเพณีต่างๆ ซึ่งภาพสะท้อนของวิวัฒนาการการแต่งกายของสตรีบาบ๋าภูเก็ตที่น่าสนใจได้แบ่งออกเป็นช่วงเวลาต่างๆ ดังนี้
1. ประมาณพ.ศ. 2443-2463
เสื้อครุยยาว ในช่วงแรกนี้สตรีบาบ๋าภูเก็ตรับรูปแบบการแต่งกายโดยสวมผ้าโสร่งปาเต๊ะกับเสื้อครุยยาว มีลักษณะเป็นเสื้อคลุมยาวครึ่งน่อง ผ่าหน้า แขนยาวตรงแต่ปลายแขนสอบเล็กน้อย คอเป็นรูปตัววี ซึ่งเป็นแฟชั่นการแต่งกายที่ถือว่าสวยงามและหรูหรา โดยผู้หญิงที่สวมเสื้อครุยยาวนี้ต้องเกล้ามวยชักอีโบยหรือมวยรวบตึงและประดับตกแต่งศีรษะด้วยดอกไม้ไหวหรือปิ่นปักผม ซึ่งส่วนใหญ่การสวมเสื้อครุยยาวมักสวมใส่อย่างทางการอีกทั้งยังเป็นชุดสำหรับเจ้าสาวด้วย
เสื้อครุยท่อน นอกจากเสื้อครุยยาวที่มีความยาวคลุมเข่าแล้วยังมีครุยท่อนหรือครุยสั้นซึ่งมีความยาวเพียงคลุมสะโพกเท่านั้น แต่ลักษณะการสวมใส่ยังคงเหมือนกับครุยยาว กล่าวคือ สวมเสื้อตัวในที่มีลักษณะคอตั้งแขนจีบ นุ่งโสร่งปาเต๊ะ แล้วสวมเสื้อครุยอีกชั้นหนึ่ง
เสื้อมือจีบ มีลักษณะเหมือนกับเสื้อตัวในหากแต่ต่างกันตรงที่เสื้อตัวในนั้นมักสวมเฉพาะสีขาว แต่เสื้อมือจีบสามารสวมใส่ได้หลากสีและอาจตัดเย็บจากผ้าหลายชนิดทั้ง ผ้าป่าน ผ้าฝ้าย ผ้าปักดอกเล็ก
2. พ.ศ. 2463-2473
เคบายาลินดา ในช่วงนี้สตรีบาบ๋านิยมสวมเสื้อเคบายาลินดาซึ่งเป็นเสื้อแบบไม่มีสาบสำหรับติดกระดุม นิยมตัดเย็บด้วยผ้าป่านรูเบียหรือผ้าหนาลายดอกชนิดอื่น ประดับสาบเสื้อและริมสะโพกด้วยลูกไม้
3. พ.ศ. 2473-2483
เคบายาบีกู เป็นช่วงที่แฟชั่นเริ่มเปลี่ยนเป็นเสื้อเคบาบาบีกูที่มีการฉลุลายตรงสาบเสื้อและชายเสื้อ
4. พ.ศ. 2483-2500
เคบายาซูแลม เสื้อเคบายาซูแลมนั้นมีรูปแบบไม่ต่างจากเคบายาบีกูหากแต่การฉลุลายนั้นมีสีสันทำให้ดูสวยงามมากขึ้น
นอกจากวิวัฒนาการที่กล่าวไปแล้วนั้นยังมีชุดลำลองอันเป็นที่นิยมของสตรีบาบ๋าซึ่งถือได้ว่าเป็นชุดที่มีความเป็นชาวจีนมากกว่าลักษณะผสมผสาน ชุดที่ได้รับความนิยมก็คือชุดเซี่ยงไฮ้ข่อ ชุดตึ่งผ่าว(กี่เพ้ายาว)และเต่ผ่าว(กี่เพ้าสั้น)
ไม่เพียงแค่การรับเอาวัฒนธรรมการแต่งกายมาจากสตรีเพอรานากันในแถบช่องแคบหากบาบ๋าชาวภูเก็ตก็ยังได้นำมาประยุกเข้ากับสังคมไทยอีกด้วย นั่นคือการนำเสื้อสามส่วนและเสื้อแขนกุดมาประยุกต์ใส่กับผ้าโสร่งได้อย่างงดงามลงตัวและแสดงเอกลักษณ์ของตนได้เป็นอย่างดี
คุณค่าแห่งวัฒนธรรมที่สอดผสานกันอย่างกลมกลืนได้รับการกลั่นกรองผ่านวันเวลาอันยาวนานกระทั่งกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แม้ทุกวันนี้การแต่งกายของสตรีบาบ๋าภูเก็ตที่งดงามแบบดั้งเดิมอาจเกิดขึ้นเฉพาะกิจเท่านั้น แต่ความงดงามที่แท้ย่อมฉายแสงแห่งคุณค่าออกมาเสมอแม้รูปลักษณ์ภายนอกอาจเปลี่ยนไปตามกาลก็ตาม
เอกสารอ้างอิง
ฤดี ภูมิถาวร.(มปป.). การแต่งกายผู้หญิงบาบ๋าภูเก็ต. (มปป.). ยะลา : สมาคมเพอรานากัน ภูเก็ต