บาบ๋าภูเก็ต ตัวตนที่แตกต่าง(2)
นอกจากสำรับอาหารแบบเพอรานากันอันมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของภูเก็ตแล้ว ตัวตนของบาบ๋าภูเก็ตที่มีรากฐานจากบรรพบุรุษทั้งชาวจีนฮกเกี้ยนและชาวพื้นเมืองภาคใต้ที่รับอิทธิพลมาจากชาวจีนช่องแคบแถบเดียวกันทั้งเมืองมะละกา เมืองปีนังแห่งประเทศมาเลเซีย ตลอดจนประเทศสิงคโปร์ ก็คือสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นไม่ว่าจะเป็นอาคารพานิชย์หรือตึกแถว (Shophouse) จนกระทั่งไปถึงบ้านสไตล์โคโลเนียลหรือที่เรียกในภาษาฮกเกี้ยนว่า “อั่งม้อหลาว” การเดินทางเพื่อครอบครองในยุคล่าอาณานิคมของชาวยุโรปได้ทิ้งร่องรอยอารยะของตนไว้ในดินแดนอุษาคเนย์อย่างมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือสถาปัตยกรรมที่คนรุ่นหลังให้คุณค่าทุกวันนี้
ดินแดนมะละกาเป็นที่ตั้งอาคารสถาปัตยกรรมรูปแบบชิโน-โปรตุกีส (Sino-Portuguese) มากมาย อาคารเหล่านั้นล้วนมีประวัติยาวนานแบ่งได้เป็น 3 ช่วง คือยุคที่โปรตุเกสยึดครองมะละกาช่วง ค.ศ. 1511-1641(พ.ศ. 2054-2184) อาคารพานิชย์ในยุคแรกมีลักษณะเรียบง่าย จากนั้นเป็นช่วงที่มะละกาถูกปกครองโดยชาวดัตช์ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วงตั้งแต่ค.ศ.1641-1797(พ.ศ.2184-2340) และค.ศ. 1818-1824(พ.ศ.2361-2367) กระทั่งถึงช่วงที่อังกฤษครอบครองคือค.ศ.1786-1957(พ.ศ.2329-2500) ทุกช่วงเวลาได้นำพาให้รูปแบบสถาปัตยกรรมยุโรปไม่ว่าจะเป็นยุคนีโอคลาสสิค, อาร์ต เดโค ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมจีนตอนใต้โดยพ่อค้าชาวจีนฮกเกี้ยนนั่นเอง
แม้อาคารบ้านเรือนหรือตึกชิโน-โปรตุกีส แถบคาบสมุทรมลายูได้เริ่มสร้างมาตั้งแต่โปรตุเกสเข้าครอบครองดินแดนมะละกา หากทว่าในภูเก็ตเริ่มปรากฏการก่อสร้างตั้งแต่ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงสมัยรัชกาลที่ 8 ซึ่งเริ่มด้วยการติดต่อค้าขายกับปีนัง โดยก่อนหน้านั้นเป็นอาคารชั้นเดียวรูปแบบจีน การสร้างตึกชิโน-โปรตุกีสในช่วงแรกรับอิทธิพลสถาปัตยกรรมยุโรปรวมทั้งแองโกล-อินเดียผ่านทางประเทศมาเลเซีย เนื่องด้วยเป็นยุคที่อังกฤษเข้าปกครองทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์ ดังนั้นความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างนักธุรกิจจีนในภูเก็ตกับปีนังจึงได้รับอิทธิพลศิลปะสถาปัตยกรรมในยุคที่มีการเปลี่ยนผ่านและมีความหลากหลายแล้ว ในช่วงแรกตึกแถวมีการทำหัวเสาแบบกรีก-โรมันด้านหน้าอาคาร มีหน้าต่างโค้งยาวจรดพื้น และประดับลวดลายปูนปั้นเหนือขอบหน้าต่าง จากนั้นสมัยต้นรัชกาลที่ 7 เริ่มลดการประดับตกแต่งหน้าอาคารลง โดยมีการสร้างราวระเบียงชั้นบนด้านหน้าอาคาร และได้เปิดอาเขตหรือหง่อคาขี่ซึ่งหมายถึงทางเดินห้าฟุต ส่วนช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 7 ถึงสมัยรัชกาลที่ 8 มีการประดับตกแต่งกระจกแบบตะวันตกบริเวณหน้าอาคาร
ลักษณะเด่นอีกหนึ่งอย่างของอาคารพานิชย์รูปแบบชิโน- โปรตุกีสในจังหวัดภูเก็ตคือนิยมสร้างอาคารหน้าแคบแต่ลึกเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากอาคารในประเทศอาณานิคมซึ่งถูกเรียกเก็บภาษีตามขนาดความกว้างของอาคารสมัยที่ดัตช์ปกครอง ซึ่งโดยทั่วไปตัวตึกมีความกว้างตั้งแต่ 13-20 ฟุต แต่มีความลึกมากกว่าความยาวสองถึงสามเท่า ภายในแบ่งเป็นส่วนต่างๆตามการใช้สอยทั้งห้องรับแขก ห้องพักผ่อน ห้องรับประทานอาหารและห้องครัว โดยแบ่งด้านหน้าเป็นร้านค้า และภายในอาคารมักมี “ฉิ่มแจ้” คือช่องให้แสงส่องเข้ามาในตึกซึ่งมีบ่อน้ำอยู่ตรงส่วนนี้ด้วย
นอกเหนือจากความงดงามของอาคารพานิชย์ที่มีให้เห็นโดยส่วนใหญ่ที่ถนนถลาง ถนนดีบุกและถนนเยาวราชแล้ว ลูกหลานบาบ๋าภูเก็ตหลายตระกูลยังคงรักษาบ้านซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษไว้ได้เป็นอย่างดี ซึ่ง “อั่งม้อหลาว” หรือตึกฝรั่งนี้สร้างโดยบรรพบุรุษผู้ก่อร่างสร้างตัวจากกิจการเหมืองแร่ ทั้งยังมีบางแห่งที่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ สถานที่ท่องเที่ยว และร้านอาหาร
ทั้งหมดนี้เป็นดั่งความงดงามไร้กาลเวลาที่ยืนหยัดอย่างสง่างามประหนึ่งกำลังบอกเล่าตัวตนแก่ผู้มาเยือนท่ามกลางกระแสสังคมที่กำลังเปลี่ยนไป
เอกสารอ้างอิง
Joo Ee, Khoo. (1998). The Straits Chinese: A Cultural History. Reprinted. Amsterdam : The Pepin Press
https://phuketindex.com/travel/phuket-in-brief/architecture-oldbuilding-th.htm