ร่องรอยกาลเวลากับความหมายในชุดน้ำชาและเครื่องถ้วย
การรับประทานอาหารนอกจากเพื่อดำรงชีวิตและแสดงออกถึงความพึงใจในรสชาติของผู้เสพแล้ว แน่นอนว่าในสำรับอาหารหนึ่งมื้อของทุกชนชาติย่อมมีเครื่องประกอบที่แสดงถึงฐานะและรสนิยมของเจ้าบ้านนั่นคือชุดจานอาหารนั่นเอง
ปัจจุบันด้วยความเร่งรีบทำให้ความพิถิพิถันในการจัดสำรับไกลตัวออกไป แต่เมื่อย้อนดูร่องรอยแห่งความปราณีตในอดีตก็ยังพอมีให้เห็น ผ่านทางสื่อต่างๆเช่นหนังสือและภาพยนตร์ย้อนยุค
ชาวยุโรปมีชุดกระเบื้องที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์เช่น อังกฤษมีชุดน้ำชาและจานชาม wedgewood ซึ่งมีประวัติยาวนานมากว่าสองร้อยห้าสิบปี ส่วนประเทศฝรั่งเศสก็มีเครื่องกระเบื้องที่สวยงามเช่นชุดพอร์ซเลนและเครื่องปั้นดินเผาที่เมือง Limoges (ลิโมช), Quimper (แก็งแปร์) ฯลฯ ซึ่งต่างมีประวัติยาวนานไม่แพ้กัน รวมถึงประเทศอื่นในยุโรปไม่ว่าจะเป็นอิตาลี เยอรมัน เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ
ในทวีปเอเชียหากเราจะกล่าวถึงเครื่องปั้นดินเผารวมไปถึงถ้วยชามกระเบื้องที่งดงามคงต้องกล่าวถึงประเทศจีนซึ่งมีอารยธรรมอันรุ่งเรืองมายาวนานเนื่องด้วยชาวจีนคือ ผู้บุกเบิกนวัตกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่เก่าแก่ที่สุดของโลก และต่อมาชาวโปรตุเกสเป็นฝรั่งชาติแรกที่เดินเรือข้ามน้ำข้ามทะเลมาค้าขายกับเอเชียได้สำเร็จ เมื่อได้รู้จักเครื่องถ้วยชามอันงดงามของจีน ชาวโปรตุเกสจึงเกิดประทับใจและเรียกเครื่องปั้นดินเผาเหล่านั้นว่า พอร์เซลานา (Porcellana) อันเป็นที่มาของคำว่า พอร์ซเลน (Porcelain) ในภาษาอังกฤษนั่นเอง
เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องกระเบื้องของไทยก็มีร่องรอยการผลิตมายาวนานอันเห็นได้จากการพบหลักฐานเตาเผาตั้งแต่สมัยสุโขทัย (พ.ศ.1503 – 1822) ซึ่งถ้วยชามสมัยนั้นเรียกว่าเครื่องสังคโลกหรือศิลาดล เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาประเภทสโตนแวร์ (Stoneware) เคลือบสีเขียวไข่กา ซึ่งเราเรียกเครื่องปั้นดินเผาเคลือบโทนสีเขียวนี้ว่า “เครื่องสังคโลก” เรียกชื่อตามแหล่งเตาเผาที่ผลิตในประวัติศาสตร์ อยู่ที่ อ. สวรรคโลก จ.สุโขทัย ส่วนเตาเผาทางภาคเหนือนอกเหนือจากนั้นยังมีที่เชียงรายซึ่งเรียกเครื่องว่าถ้วยชามเวียงกาหลงซึ่งมีทั้งชนิดเขียนลายสีดําบนพื้นขาว (ถ้วยลาย) ชนิดเคลือบสีเขียว (ถ้วยเขียว) และชนิดสีขาวเคลือบใสไม่มีสี (ถ้วยขาว)
ส่วนในสมัยอยุธยาช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ได้มีการสั่งผลิตเครื่องถ้วยที่เรียกว่าเบญจรงค์จากราชสำนักโดยการให้ช่างหลวงเขียนลวดลายตัวอย่างเพื่อให้ช่างจีนวาดได้ไม่ผิดเพี้ยนหรือบางคราวอาจมการส่งตัวช่างไทยเพื่อไปควบคุมการเขียนลายได้อย่างถูกต้อง ในสมัยรัตนโกสินทร์ เครื่องเบญจรงค์มักจะผลิตขึ้นโดยโรงงานในมณฑลทางใต้ เช่น มณฑลฝูเจี้ยนและมณฑลกวางตุ้ง ที่เป็นบ้านเกิดของชาวจีนในสยาม แต่ก็มีบางชิ้นที่ผลิตที่เมืองจิ่งเต๋อเจิ้นซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางแห่งการผลิตเครื่องกระเบื้องของประเทศจีนจิงเต๋อเจิ้นนั้นมักจะเป็นของใช้ในราชสำนัก เพราะเนื้อดินปั้นละเอียด แกร่ง และบาง ช่างที่ทำมีฝีมือดี และเขียนลายได้ละเอียดสวยงาม
สำหรับวัฒนธรรมการรับประทานอาหารและการดื่มชาของชาวเพอรานากันภูเก็ตนั้นมีการผสมผสานอย่างลงตัวอันประกอบไปด้วยอาหารจีนและอาหารพื้นเมืองทางใต้ที่สามารถประยุกต์ปรุงแต่งออกมาเป็นอาหารเพอรานากัน ส่วนภาชนะจัดสำหรับก็มีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ที่สั่งทำจากประเทศจีนเรียกว่า “เครื่องถ้วยนนยา” (Nyonya Wares) ซึ่งคำว่า “นนยา” เป็นคำเรียกสตรีบาบ๋าในแถบช่องแคบมะละการยกเว้นจังหวัดภูเก็ตที่เรียกทั้งชายและหญิงว่า “บาบ๋า” หรือเรียกเครื่องถ้วยชนิดนี้อีกอย่างว่า “เครื่องถ้วยจีนชนิดเนื้อกระเบื้องเขตอาณานิคม” (Straits Chinese Porcelain) แบ่งเป็นสองประเภทคือลงยาสีบนเคลือบและเขียนลายสีน้ำเงินใต้เคลือบ ซึ่งลวดลายต่างๆท่ีใช้ตกแต่งบนเครื่องกระเบื้องเหล่านี้มีทั้ง ลายหงส์ ท่ามกลางดอกโบตั๋นซึ่งสื่อถึงการมีทรัพย์สมบัติ ความสงบ ความสวยงามและความรัก ถือเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องถ้วยนนยาหรือเครื่องถ้วยจีนชนิดเนื้อกระเบื้องบริเวณเขตอาณานิคม ขอบปากของจาน หรือชามมักหยักเป็นรูปกลีบดอกไม้เล็กๆ ตกแต่งด้วยลายมงคลแปด อาทิ ธรรมจักร ฉัตร สังข์ ธง แจกัน ดอกบัว และ ปลาคู่ สะท้อนให้เห็นถึงความเช่ือและความศรัทธาในพุทธศาสนามหายาน ส่วนก้นภาชนะมักประทับปีรัชสมัยหรือร้านผู้ผลิต
รูปทรงส่วนใหญ่ของเครื่องถ้วยนนยาประเภทลงยาสีบนเคลือบและวิธีลงยานั้นมีลักษณะเหมือนกับเครื่องถ้วยเบญจรงค์และเครื่องถ้วยน้ำทองที่ไทยสั่งเข้ามาจากประเทศจีนในสมัยรัชกาลที่ ๓ ถึงสมัยรัชกาลที่๕ เช่น จาน ชาม ชามฝา ปิ่นโต โถ ช้อนกลาง ชุดน้ำชา ฯลฯ แต่ลวดลายท่ีลงยาจะมี ความแตกต่างจากของเครื่องถ้วยเบญจรงค์และเครื่องถ้วยน้ำทองอย่างเห็นได้ชัด นอกจากน้ียังมีอิทธิพลของเครื่องถ้วยยุโรป เช่น ถ้วยมีหูพร้อมจานรองสาหรับชงชาหรือกาแฟ เหยือกใส่นมซึ่งสะท้อนถึงรสนิยมของผู้ใช้ชาวบาบ๋าซึ่งมีวัฒนธรรมการดื่มชาแบบอังกฤษ ส่วนสีของพื้นหลังมักเป็นสีเขียวหลากหลายโทนสี เช่น สีเขียวอ่อน สีเขียวเข้ม และสีฟ้า โดยมีการเปลี่ยนแปลงเป็นสีอื่นร่วมด้วยคือ สีน้ำเงิน สีแดง สีส้ม สีเหลือง สีชมพู และสีชมพูอมสีม่วง เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 24 (กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19)
แม้ว่าปัจจุบันการจัดสำรับโดยใช้เครื่องกระเบื้องเหล่านี้จะลดน้อยลงหรือมีการใช้เฉพาะเทศกาลงานเฉลิมฉลองในครอบครัว หากทว่าสิ่งที่สะท้อนออกมาให้เห็นอย่างกระจ่างชัดคือคุณค่าแห่งการระลึกถึงบรรพบุรุษผู้มอบของขวัญอันมีค่าที่ส่งผ่านกาลเวลาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นตัวตนของชาวเพอรานากันทุกประเทศรวมถึงบาบ๋าภูเก็ตด้วยเช่นกัน
เอกสารอ้างอิง
http://www.cmruir.cmru.ac.th/bitstream/123456789/586/5/Chapter2.pdf
http://lampang.tu.ac.th/pdf/info/2558/ceramic2558/25580202ceramic2558.pdf
http://www.bu.ac.th/knowledgecenter/executive_journal/july_sep_10/pdf/aw8.pdf