บ้านหงษ์หยก
หลวงอนุภาษภูเก็ตการ(นายจิ้นหงวน หงษ์หยก)ได้ดำริให้สร้างบ้านหลังนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2473 เพื่อเป็นที่รวมของสมาชิกในครอบครัวบ้านหงษ์หยกออกแบบโดยขุนพิศาลสารกรรม ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี การที่บ้านถูกเรียกว่า “อั้งหม้อเหลา” ซึ่งแปลว่า “ตึกฝรั่ง” เนื่องจากตัวบ้านเป็นอาคารยุโรปผสมจีนซึ่งแตกต่างจากบ้านห้องแถวอันเป็นที่นิยมในสมัยนั้น
มีบางกลุ่มได้เรียกตึกลักษณะเช่นนี้ในภูเก็ตว่า “ชิโน-โปรตุกีส” เพราะเป็นแบบยุโรปผสมจีน บ้างก็ให้ความเห็นว่า สิ่งก่อสร้างเช่นนี้ไม่น่าจะมีหลงเหลืออยู่อีกแล้ว เพราะวัฒนธรรมดังกล่าวมีมาช้านาน ควรจะเป็นแบบ “โคโลเนียลสไตล์” มากกว่าอันเนื่องมาจากได้รับอิทธิพลมาจากชาวยุโรปที่เข้ามาค้าขายในรุ่นหลังๆ ซึ่งจะเห็นได้จากเพื่อนบ้านใกล้เคียงคือ ในเมืองปีนังประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์
บ้านหลังนี้ปลูกอยู่บนเนี้อที่ 5 ไร่ ตัวบ้านใช้เนื้อที่ 3/4 ไร่ มีห้องต่างๆ ดังนี้ ห้องนอนสำหรับรับรองแขก 1 ห้อง และห้องนอนสำหรับผู้พักอาศัย 5 ห้อง ห้องทำงาน,ห้องพระ,ห้องรับรองแขกใหญ่ 1 ส่วน และเล็ก 1 ส่วน ห้องอาหารสำหรับ 18 ที่ ห้องนั่งเล่นหรือห้องเอนกประสงค์ ซึ่งเป็นห้องโถงใหญ่ ห้องซักผ้า และห้องอื่น ๆ อีก เฟอร์นิเจอร์เกือบทุกชิ้นสั่งทำจากกรุงเทพฯ ปัจจุบันยังคงใช้อยู่ กระเบื้องปูพื้นโมเสค และกระเบื้องปูหลังคาสั่งจากอังกฤษเพราะคุณภาพดีมากทำให้สีคงสภาพเดิมถึงแม้จะผ่านจากการถูกน้ำท่วม และหน้าฝนปีแล้วปีเล่า นอกจากนั้นพัดลม,โคมไฟ,ปลั๊กไฟ ยังคงใช้การได้เป็นอย่างดี
คุณบุญศรี หงษ์หยก สมรสกับบุตรชายคนโตของหลวงอนุภาษภูเก็ตการ ชื่อคุณวิรัช หงษ์หยก ปัจจุบันได้ถึงแก่กรรมแล้วคุณบุญศรี หงษ์หยก รับมรดกบ้านหลังนี้มา แต่ยังคงยึดถือเจตนาเดิมของหลวงอนุภาษภูเก็ตการที่อยากให้บ้านนี้เป็นที่รวมของ ลูกๆหลานๆตระกูล “หงษ์หยก” ดังนั้นทุกปีพี่น้องที่อยู่ที่อื่น จะกลับมาพักที่บ้านนี้ เพื่อมาทำพิธีไหว้บรรพบุรุษ (เช้งเม้ง)ที่สุสานนอกจากนั้นหากพี่น้องคนใด หรือบริษัทมีแขกคนสำคัญมาเยือน “อั้งหม้อเหลา” ของบ้านหงษ์หยกก็จะเป็นที่รับรองเสมอและเป็นที่ทำพิธีสมรสแบบทางใต้เรียกว่า”พิธียกน้ำชา หรือ “พังเต” รวมทั้งส่งเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าห้องหอและเจตนารมณ์ดังกล่าวจะคงเป็นเช่นนี้ตลอดไป อีกทั้งได้พยายามรักษาสภาพตึกหลังนี้ให้คงเหมือนเดิมแรกสร้าง จึงได้รับพระราชทานกิตติบัตร จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในงานนิทรรศการ “สถาปนิค 30” ในปี พ.ศ. 2530 นอกจากนี้ยังมีสถาบันต่าง ๆ ขอเข้าชมบ้านเพื่อเป็นการทัศนศึกษา ถ่ายทำภาพยนต์หรือถ่ายรูปลงนิตยสารอยู่เนืองๆ