ไข่มุกภูเก็ต: อัญมณีอันดามัน ของขวัญจากท้องทะเลไทย
นอกเหนือจากธุรกิจการท่องเที่ยวในยุคที่รัฐบาลยกเลิกการทำเหมืองแร่ได้เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้แก่นักธุรกิจภูเก็ตแล้ว อีกหนึ่งธุรกิจที่สร้างรายได้จนสร้างชื่อและอยู่ในความคิดเป็นอันดับต้นๆเมื่อกลาวถึงภูเก็ตก็คือ “ไข่มุก” นั่นเอง
คำว่า “ไข่มุก” (Pearl) มาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ “Pilula” แปลว่า ลูกบอล แต่ในสมัยโบราณไข่มุกเป็นที่รู้จักในชื่อ “มาการ์ไรต์” (Magarite) ซึ่งมาจากคำว่า Magaritafera ในภาษากรีก อันมีความหมายว่าหอยที่มีมุกฝังอยู่ “ไข่มุก” จัดเป็นอัญมณีแห่งท้องทะเลที่มนุษย์เรารู้จักมาอย่างยาวนานดังตำนานในคัมภีร์พระเวทบันทึกไว้ว่า ไข่มุกเกิดจากฟันของอสูรวลาที่ร่วงหล่นลงมาบนโลกมนุษย์แล้วหลุดเข้าไปอยู่ในเปลือกหอยมุกทำให้เกิดมุกขึ้น หรือตามนิยายปรัมปราและตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาเชื่อว่าไข่มุกเป็นหยาดน้ำตาแห่งความสุขของเทพธิดาที่หลั่งมาให้กับชะตาชีวิตของเหล่ามวลมนุษย์ และบ้างก็กล่าวว่าไข่มุกเป็นหยดน้ำค้างที่จับอยู่บนใบโกงกาง ต่อมาได้กลายเป็นไข่มุก เมื่อตกลงไปในทะเลได้เข้าไปอยู่ในเนื้อหอยนางรม
ในความเป็นจริงแล้วการกำเนิดของไข่มุกนั้นเกิดจากการที่เม็ดทรายหรือสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในตัวหอยมุกทำให้หอยมุกเกิดความระคายเคืองจึงต้องขับ “น้ำมุก” (Narce) ซึ่งประกอบด้วย แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ออกมาเคลือบสิ่งปลอมนั้น น้ำมุกที่หอยมุกขับออกมาทำให้สิ่งแปลกปลอมนั้นมีความแวววาวยิ่งหอยมุกขับน้ำมุกออกมาเคลือบนานเท่าไรสิ่งแปลกปลอมนั้นก็มีความแวววาวและความงดงามมากขึ้นเท่านั้น ไข่มุกแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือไข่มุกธรรมชาติ (Natural Pearl) และไข่มุกเลี้ยง (Cultured Pearl) ซึ่งสิ่งที่ทำให้ไข่มุกเลี้ยงน้ำเค็มเกิดความระคายเคืองในหอยมุกได้แก่ ลูกปัดทรงกลม (Bead) ที่ทำจากเปลือกหอย (Shell) ส่วนไข่มุกเลี้ยงน้ำจืดใช้เนื้อเยื่อจากหอยมุก (Mantle tissue) ใส่เข้าไปแทนลูกปัดเพราะหอยมุกน้ำจืดตัวเล็กกว่าหอยมุกน้ำเค็ม จึงทำให้ไข่มุกเลี้ยงน้ำจืดมีรูปร่างไม่กลมจนถึงบิดเบี้ยวเล็กน้อย โดยปกติไข่มุกเลี้ยงจะมีขนาดโตได้ประมาณ 9 – 15 มิลลิเมตรมีสีเหลือง ทอง ขาว เงิน ดำ เป็นต้น
มีความเชื่อกันว่ามีการค้นพบไข่มุกครั้งแรกในบริเวณตะวันออกกลาง ซึ่งปัจจุบันแหล่งมุกที่สำคัญได้แก่ เปอร์เชีย อเมริกากลาง และ ออสเตรเลียเหนือ ส่วนไข่มุกเลี้ยงนั้นมีมากแถบญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาะตาฮิติ และเกาะหมู่เกาะอื่น ๆ ในแถบทะเลใต้ นอกจากนี้ยังถือได้ว่าไข่มุกเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ เนื่องจากสีอันนุ่มนวลงดงามของอัญมณีชนิดนี้เมื่อหญิงสาวนำมาใส่จึงช่วยกระตุ้นให้ความเป็นกุลสตรีเด่นชัดขึ้นทำให้เกิดความนุ่มนวลอ่อนหวาน และยังเชื่อกันว่าคู่สามีภรรยาที่ไม่มีบุตรหากนำไข่มุกวางไว้ใต้หมอนจะช่วยให้สมหวัง ส่วนความหมายของสีไข่มุกมีมากมายคือ “ไข่มุกสีขาว” เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเลิศและความมีอุดมคติ “ไข่มุกสีดำ” เป็นตัวแทนของผู้มีปรัชญา และ “ไข่มุกสีชมพู” เป็นตัวแทนของความสวยงาม
อาจกล่าวได้ว่าแหล่งผลิตหอยมุกที่มีชื่อเสียงและเป็นนิยมในประเทศไทยคือจังหวัดภูเก็ตซึ่งมีชื่อเสียงในการเลี้ยงหอยมุกมานาน เพราะมีสภาพแวดล้อมที่มีการขึ้นลงของน้ำ 2 ครั้ง ต่อวัน ทำให้มีผลให้เกิดอาหารของหอยมุกตามธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ ที่สำคัญคืออุณหภูมิของน้ำทะเลพอเหมาะทำให้ช่วยในการเจริญเติบโตของหอยมุกและเป็นทะเลเปิด น้ำทะเลหมุนเวียนได้ทั้งปี ทำให้น้ำทะเลสะอาด หอยมุกที่เลี้ยงในฟาร์มจะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ Mabe (มา-เบ) เป็นหอยมุกประเภท มุกซีก หรือที่คนไทยเรียกว่า มุกกัลปังหา มุกประเภทที่ 2 คือ หอยมุก Akoya จัดเป็นหอยมุกที่สร้างไข่มุกขนาดเล็กที่สุดในโลก (ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-10 มิลลิเมตร) และหอยมุก South Sea คือประเภทสุดท้าย หอยประเภทนี้สามารถสร้างมุกได้เม็ดใหญ่ที่สุดในโลก (ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร ใหญ่ใกล้เคียงกับเหรียญบาท) โดยขั้นตอนการเลี้ยงคือเมื่อได้หอยมาแล้วจะนำหอยมาอ้าปากเพื่อนำมุกไปฝังลงติ่งเพศซึ่งต้องใช้ความชำนาญมาก เมื่อตรวจดูว่าหอยไม่ตายจึงเจาะรูร้อยเป็นพวง พวงละ 3-4ตัว และนำไปแขวนหย่อนลงในทะเล ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ก่อนจะนำขึ้นมาเปิดฝาเพื่อนำไข่มุกที่อยู่ภายในออกมา
ปัจจุบันฟาร์มมุกในจังหวัดภูเก็ตยังเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ผู้สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าชมการทำฟาร์มมุก อันถือได้ว่าเป็นการต่อยอดการทำธุรกิจได้อย่างลงตัวและเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัดอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
https://www.git.or.th/pearl.html
https://www.git.or.th/g20130529.html
https://sites.google.com/site/khimuksaenswy/khimuk-ni-prathesthiy