“ดีบุก” แร่อันมีค่าก่อนรัฐนำพาภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยว (2)

“ดีบุก” แร่อันมีค่าก่อนรัฐนำพาภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยว (2)

อาชีพการทำเหมืองแร่นอกจากจะสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงทางเศรษฐกิจแก่ผู้เป็นเจ้าของกิจการแล้วยังก่อให้เกิดอาชีพมากมายที่โยงใยเกี่ยวเนื่องอีกหลายชีวิตประดุจเดียวกับสายแร่อันลึกล้ำก็ไม่ปาน
อาชีพที่เกิดขึ้นมีทั้งอาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการเหมืองและอาชีพที่เกิดขึ้นเป็นผลพลอยได้จากการประกอบกิจการเหมืองแร่ ซึ่งอาชีพที่เกิดจากการทำเหมืองแร่นี้เริ่มต้นตั้งแต่นายเหมืองไปจนกระทั่งถึงกรรมกร แต่ละตำแหน่งหน้าที่มีความรับผิดชอบของตนที่แตกต่างกันโดยมีปลายทางเป็นแร่ดีบุกที่นำพาทุกชีวิตไปสู่ผลตอบแทนเช่นกัน

ตำแหน่งของกิจการงานเหมืองแร่มีดังนี้

ผู้จัดการหรือจ้งสูน มีหน้าที่รับผิดชอบสำนักงาน ที่พักคนงาน ร้านขายกาแฟ บ้านพัก ที่ตั้งตัวแร่ โรงเครื่องสูบดิน สูบน้ำ ควบคุมดูแลแร่ดีบุกทั้งที่อยู่ในขุมและสำนักงาน
รองผู้จัดการหรือยี่กัง ทำหน้าที่ดูแลคนงานและดูแลการจ่ายคูปองค่าแรงคนงาน
สมุห์บัญชีหรือชิ่นเต้ง เป็นตัวแทนเจ้าของเหมือง ทำหน้าที่ดูแลบัญชี การจ่ายเงิน ดูแลแร่ดีบุกในสำนักงานและเป็นผู้นำแร่ไปขายยังบริษัทหรือห้างต่างๆ รวมทั้งติดต่อประสานงาน
เสมียน เป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชี
นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งอื่นๆที่ไล่เรียงตามลำดับไป คือ หัวหน้าช่างเครื่องหรือเถ่าชิ้ว, ผู้ช่วยหัวหน้าช่างเครื่องหรือยี่ชิ้ว, พนักงานดูแลเครื่องยนต์ และคนงานทั่วไปหรือจับกั้ง

เนื่องจากการทำเหมืองแร่นั้นเป็นกิจการที่ใช้คนและมีระยะเวลายาวนาน จึงอาจกล่าวได้ว่าเหมืองแร่ได้สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจและสร้างชุมชนจนทำให้เกิดอาชีพอื่นขึ้นมากมายโดยแบ่งเป็นประเภทต่างๆได้ดังนี้

อาชีพเกี่ยวกับการบริโภค
อาชีพขายน้ำชากาแฟ
อาชีพทำขนมแห้งหรือขนมสด มีทั้งขนมแบบจีนและแบบพื้นเมืองซึ่งผู้ผลิตจะนำไปฝากขายตามร้านน้ำชากาแฟ
ร้านขายของชำ เช่น ข้าวสาร น้ำตาล น้ำมัน
ร้านอาหาร, ภัตตาคาร, โรงงานทำเส้นหมี่ เช่น หมี่เหลือง บี้หุ้น หมี่ซั่ว, โรงสีข้าว, โรงต้มสุรา

อาชีพเกี่ยวกับความงาม
อาชีพขายเสื้อผ้าเครื่องประดับ, ช่างตัดเสื้อผ้า, ช่างทำผมและเสริมสวย,

อาชีพเกี่ยวกับการคมนาคมและขนส่ง
อาชีพขายรถยนต์, ขายจักรยาน รถจักรยานยนต์และอะไหล่, บริษัทขนส่ง, อาชีพทำตัวถังรถรับจ้างสองแถวด้วยไม้

อาชีพเกี่ยวกับการเงิน
ธนาคาร, โรงรับจำนำ

อาชีพเกี่ยวกับสุขภาพ
แพทย์รักษาโรคต่างๆ, ร้านขายยาสมุนไพรจีนและไทย

อาชีพสถานบันเทิง
โรงภาพยนต์, โรงรำวง, ไนต์คลับ, หนังตะลุง, โรงฝิ่น, โรงบ่อน, โรงโสเภณี(โรงเตี๊ยม)

อาชีพอื่นๆ
โรงเรียนสอนภาษาจีนและไทย, โรงแรม, ช่างซ่อมมอเตอร์ไฟฟ้า ไดนาโมและเครื่องแยกดีบุกไฟฟ้า, ขายเหล้าบุหรี่, ขายของป่า, ช่างตีเหล็ก, ขายน้ำมัน, ขายอุปกรณ์ทำเหมืองแร่, โรงเลื่อย, อาชีพทำโลงศพ, ขายเครื่องเซ่นไหว้บูชา, อาชีพรับซื้อแร่ดีบุก, โรงถลุงแร่ดีบุก

อาจกล่าวได้ว่าการทำเหมืองแร่ได้สร้างอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนตั้งแต่ต้นจนจบเลยทีเดียว แม้ว่ารัฐได้ยกเลิกการทำอาชีพเหมืองแร่ไปจากภูเก็ตและนำพาเมืองให้เข้าสู่ยุคแห่งการท่องเที่ยว แต่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแล้วก็ช่วยให้นักธุรกิจและชาวเมืองปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจบทใหม่ที่ชื่อว่า “การท่องเที่ยว” ได้เป็นอย่างดี

 

 

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. (2544). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดภูเก็ต. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว