“ดีบุก” แร่อันมีค่าก่อนรัฐนำพาภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยว (1)

“ดีบุก” แร่อันมีค่าก่อนรัฐนำพาภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยว (1)

ชาวภูเก็ตในปัจจุบันประกอบอาชีพหลากหลายแต่อาชีพดั้งเดิมที่คนทั่วไปรู้จักเมื่อกล่าวถึงดินแดนแห่งนี้ก็คือ “เหมืองแร่” ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับนักธุรกิจชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากบนแผ่นดินไทยอย่างแท้จริง หากศึกษาลึกลงไปกว่าสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็พบว่าธุรกิจการทำสัมปทานเหมืองแร่บนแผ่นดินสยามได้ถูกจับจองครอบครองเพื่อเข้ามาหาผลประโยชน์จากต่างชาติตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียว

การทำเหมืองแร่ดีบุกเริ่มในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ประมาณปีพ.ศ. 2069 ต่อมาในปีพ.ศ.2169 พระเจ้าทรงธรรมยอมทำสัญญาให้ดัตช์ผูกขาดการรับซื้อแร่ดีบุกที่ถลางเนื่องจากชาวดัตช์ได้เข้ามามีอิทธิพลบนเกาะชวา กระทั่งฝรั่งเศสประเทศแห่งเจ้าอาณานิคมเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเข้ามามีบทบาทสูงในราชสำนักสยาม โดยเฉพาะในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ส่งราชทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา หากหนึ่งในจุดประสงค์อื่นๆที่แฝงมาภายใต้การนำพาความเจริญและเทคโนโลยีนอกเหนือจากการเผยแพร่ศาสนาแล้วคงหนีไม่พ้นเรื่องความต้องการหาผลประโยชน์จากทรัพยาการบนแผ่นดินสุวรรณภูมิแห่งนี้ และหนึ่งในทรัพยากรของสยามที่ฝรั่งเศสเข้ามาหาผลประโยชน์คือ “ดีบุก” นั่นเอง เนื่องจากในปีพ.ศ. 2228 ชาวฝรั่งเศสได้ตั้งบริษัทรับซื้อดีบุกผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวในจังหวัดภูเก็ต แต่สยามก็ได้ยกเลิกสัญญานี้กับฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระเพทราชาผู้ทรงตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศส

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีพ.ศ.2367 ทรงโปรดเกล้าให้สร้างเมืองท่าแร่หลังจากร้างไปเมื่อคราวศึกถลางครั้งที่ 2 (จากการที่พม่ายกทัพทางเรือมาตีถลาง ศึกครั้งนั้นทำให้เมืองถลางย้ายไปตั้งที่กราภูกรา ปัจจุบันคือ  บ้านกรุงศรี  ต.นบปริง  อ.เมือง  จ.พังงา ต่อมาในปี พ.ศ. 2368  จึงย้ายกลับไปอยู่เกาะดังเดิม) การสร้างเมืองใหม่ครั้งนั้นทำให้พบสายแร่ที่บ้านเก็ตโฮ่(กะทู้) และบ้านทุ่งคา(อ.เมืองในปัจจุบัน) นับเป็นหลักฐานเริ่มต้นที่บ่งชี้ว่ากิจการเหมืองแร่กำลังเจริญขึ้นประกอบกับมีการชักชวนชาวจีนอพยพเข้าตั้งถิ่นฐานในหัวเมืองปักษ์ใต้เพื่อทดแทนคนพื้นเมืองเดิมที่หนีไปเมื่อครั้งสงครามและเพื่อดุลกำลังกับชนชั้นปกครองเดิม นอกจากนี้ยังมีการทำสนธิสัญญาเบอร์นีระหว่างไทยกับอังกฤษทำให้สามารถค้าขายโดยตรงกับเมืองท่าในแหลมมลายูได้

ชาวจีนที่อพยพเข้ามาแถบนี้เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนซึ่งได้เข้ามาดำเนินกิจการเหมืองแร่ โดยยุคแรกเป็นการทำเหมืองโดยใช้แรงงานคนเป็นหลัก มีวิธีการต่างๆมากมายแต่ระยะแรกนั้นใช้วิธีการ “ร่อนแร่” ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่าเลียง มีลักษณะคล้ายกระทะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 24 – 30 นิ้ว ทำด้วยไม้เนื้อเบาแต่เหนียว นอกจากนี้ยังมีการทำเหมืองแร่รูปแบบต่างๆดังนี้

การทำเหมืองรูหรือเหมืองปล่อง  เป็นการทำเหมืองในบริเวณที่ราบ โดยการขุดรูเข้าไปในชั้นดินตามสายแร่
การทำเหมืองแล่น(ซ้านซั้ว)  เป็นวิธีการทำเหมืองโดยใช้พลังน้ำและแรงคนกว่า 2 คนขึ้นไปโดยพังทลายดินหินบริเวณที่ราบควนเขาให้ไหลไปตามรางดินที่ขุดเป็นร่องน้ำ เพื่อให้แร่ดีบุกและแร่พลอยตกในท้องราง จากนั้นจึงทำการกู้แร่ในรางดินเพื่อไปแต่งให้สะอาดในขั้นต่อไป
การทำเหมืองหาบ(เบ่งหลอง)  เป็นการทำเหมืองที่ต้องใช้แรงงานคนอย่างน้อย 100 คนขึ้นไป โดยทำการขุดลอกเปลือกดินเพื่อเปิดหน้าเหมืองที่ไม่มีแร่ออกไปในลักษณะเป็นบริเวณกว้างจนถึงชั้นกรวดทรายหยาบ จากนั้นจึงทำการขุดและลำเลียงด้วยบุ้งกี๋ไปตามรางกู้แร่เพื่อนำมาล้างและต่งให้สะอาดต่อไป
การทำเหมืองเจาะงัน วิธีการนี้ใช้สำหรับการทำแร่ที่อยู่ในหินโดยทำการเจาะรูเพื่อให้คนลอดเข้าไปตามสายแร่จากนั้นจึงนำหินปนแร่ที่ขุดเจาะได้มาทุบหรือบดแร่ให้แตกตัวออกจากเนื้อหินแล้วจึงนำไปล้างและต่งต่อไป
การทำเหมืองฉีด  วิธีการนี้ทำในหินผุที่มีความสมบูรณ์ของแร่ดีบุกสูง โดยใช้พลังน้ำฉีดพังทลายหน้าดินแล้วจึงสูบดินขึ้นรางเพื่อทำการกู้แร่ด้วยแรงคนงาน 15-20 คน จากนั้นจึงนำแร่ไปทำความสะอาดต่อไป

จากความรุ่งเรืองในกิจการเเหมืองแร่ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจของของเมืองเจริญขึ้นทำให้นักธุรกิจชาวจีนเจ้าของกิจการเริ่มพัฒนากิจการเหมืองในระบบแรงงานคนไปสู่อุตสาหกรรม นั่นหมายถึงการหาวิธีการให้ได้ปริมาณสินค้าที่มากขึ้นจึงนำไปสู่ยุคการทำเหมืองแร่โดยใช้เครื่องจักรที่มีทั้งเหมืองเรือขุดที่นับว่าภูเก็ตได้ดำเนินกิจการเหมืองเรือขุดเป็นลำแรกของโลกในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ มีนายเรือออสเตรเลียชื่อ CAPTAIN EDWARD T.MILLES นอกจากนี้ยังมีเหมืองสูบและเหมืองแพดูดแร่ ซึ่งมีรูปแบบต่างๆ ดังนี้
การทำเหมืองเรือขุด (เซี้ยะบี้จุ๋น)  เหมืองเรือขุดดำเนินการครั้งแรกในปีพ.ศ.2450 โดยวิธีการทำเหมืองชนิดนี้ต้องใช้เงินทุนสูงมาก ซึ่งสามารถดำเนินการได้ในที่ราบลานแร่ทั้งบนบกและในทะเล โดยใช้กระเฌอตักดินที่ยึดกับบันไดขุดแร่ และสามารถปรับขึ้นลงได้ในแนวดิ่ง เมื่อใช้กระเฌอขุดตักดินขึ้นมาแล้วจะเทลงไปสู่รางตะแกรงซึ่งมีน้ำฉีดอยู่ทำให้ดินที่เกาะตัวกันแตกออกจากตะแกรงหมุนไปสู่จิ๊กกู้แร่ ขั้นตอนนี้แร่จะแยกตัวออกจากดินและกรวดทราย จากนั้นจึงนำแร่ไปล้างและแต่งให้สะอาดต่อไป
การทำเหมืองสูบ (สั่วป้อง)  วิธีการทำเหมืองสูบจะทำในดินที่มีความสมบูรณ์ของแร่สูงบริเวณพื้นราบ โดยใช้เครื่องจักรสูบดินและสูบน้ำ และต้องมีรางกู้แร่ที่ทำจากไม้ซึ่งภายหลังพัฒนาเป็นรางคอนกรีตเสริมเหล็ก เมื่อสูบดินขึ้นสู่รางกู้แร่แล้วจะนำแร่ที่กู้ได้ไปล้างทำความสะอาดและแต่งแร่ต่อไป
การทำเหมืองแพดูดแร่  การทำเหมืองแพเป็นวิธีการทำเหมืองที่เลียนแบบเรือขุดแร่ แต่ในระยะแรกใช้เรือขนาดเล็กหรือแพไม้ไผ่ดำน้ำบริเวณอ่าวพันนารีเพื่อไปตักดินทรายปนแร่ขึ้นมาบนแพแล้วนำไปล้างที่ชายหาด ต่อมาได้พัฒนาโดยใช้แพเหล็กและใช้สว่านเจาะและสูบแทนคนดำแร่หรือแทนลูกกระเฌอตักดิน

แม้ในปัจจุบันอาจไม่มีร่องรอยของสายแร่ปรากฏบนแผ่นดินภูเก็ตแล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ “แร่ดีบุก” ซึ่งเป็นต้นทางแห่งยุคเศรษฐกิจรุ่งเรืองได้ก่อกำเนิดอาชีพอีกมากมายที่เกี่ยวเนื่องในวิถีชีวิตของหลายคนที่ล้วนเข้ามาผูกพันกับอาชีพการทำเหมืองแร่นี้

 

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. (2544). วัฒนธรรม  พัฒนาการทางประวัติศาสตร์  เอกลักษณ์และภูมิปัญญา  จังหวัดภูเก็ต. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว