การแต่งงานของชาวเพอรานากัน : จุดเริ่มต้นแห่งความมงคลในชีวิตหนุ่มสาว

การแต่งงานของชาวเพอรานากัน : จุดเริ่มต้นแห่งความมงคลในชีวิตหนุ่มสาว

ทุกวันนี้ประเพณีการแต่งงานของชนชาติต่างๆอันสะท้อนตัวตนของวัฒนธรรมได้เลือนหายไปตามกาลเวลา คงเหลือเพียงรายละเอียดสำคัญบางอย่างที่ลดทอนขั้นตอนที่มากมายลง รูปแบบการแต่งงานที่กระชับและให้คุณค่าสาระไปที่การเฉลิมฉลองเหล่านั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำให้ความสำคัญของการแต่งงานลดลงไปเพียงแต่วันเวลาและสังคมที่เปลี่ยนไปเท่านั้นที่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลง

การแต่งงานของชาวบาบ๋าภูเก็ตเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่สะท้อนว่าทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แม้ว่าพิธีการแต่งงานอย่างเต็มรูปแบบของชาวเพอรานากันที่ต้องใช้เวลา ๗ วันได้ถูกทำให้กระชับเหลือเพียงหนึ่งวัน แต่เอกลักษณ์อันงดงามของพิธีแต่งงานได้แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณและภูมิปัญญาของคนโบราณที่ถ่ายทอดผ่านสิ่งต่างๆมากมายไม่ว่าจะเป็น ความสวยงามของเครื่องแต่งกาย พิธีกรรมอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความมงคลต่างๆตั้งแต่การทาบทาม สู่ขอ หมั้นหมาย หรือที่เรียกว่า “ผ่างเต๋” ซึ่งก็คือการเชิญญาติผู้ใหญ่จิบน้ำชาโดยบรรดาญาติพี่น้องของเจ้าบ่าวจะจุดประทัดเคลื่อนขบวนขันหมากไปบ้านเจ้าสาว ในขบวนขันหมากนี้ประกอบไปด้วยฮวดหนา (ตะกร้าเล็ก) ภายในบรรจุเงินทองของหมั้นต่างๆ และเสี่ยหนา (ตะกร้าใหญ่) ภายในมีอาหารต่าง ขนม เครื่องดื่ม น้ำชา ธูปและเครื่องหอมเซ่นไหว้ ซึ่งมีการบรรเลงดนตรีด้วยปี่จีนและฆ้องจีนระหว่างเดินขบวนหรือที่เรียกว่า “ตีต่อตีเช้ง”(การแต่งงาน) เมื่อขบวนเดินทางไปถึงบ้านเจ้าสาวก็มีการจุดประทัดบอกฤกษ์อีกครั้ง จากนั้นจึงทำพิธีผ่างเต๋หรือยกน้ำชา และ “เวียนสาดเวียนหมอน” คือ พิธีส่งตัวบ่าวสาวเข้าห้องนอน โดยมี “อึ่มหลาง” หรือ “แม่สื่อ” และ “แม่การ” เป็นผู้ดำเนินพิธีการต่าง ๆเนื่องจากสมัยก่อนคู่บ่าวสาวมักไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน จนกว่าจะถึงวันแต่งกัน

ทั้งนี้รูปแบบการแต่งงานของบาบ๋าภูเก็ตย่อมไม่ต่างจากเพอรานากันแถบช่องแคบมะละกามากมายนักโดยที่พิธีแต่งงานโบราณของชาวเพอรานากันก็มีพื้นฐานมาจากพิธีของชาวจีนซึ่งจัดถึง ๑๒ วันที่บ้านของฝ่ายเจ้าสาวเริ่มตั้งแต่พิธีแลกเปลี่ยนของขวัญ (Lap Chai) และพิธี Cheo Thau (การมาถึงอายุ) พิธี Cheo Thau เป็นหนึ่งในพิธีที่สำคัญที่สุดเป็นพิธีที่เจ้าสาวและเจ้าบ่าวจะสวมเสื้อคลุมงานแต่งงานที่แท้จริง ซึ่งพิธีแต่งงานจริงจะเกิดขึ้นก่อนเที่ยงวันในวันนั้นหลังจากพิธี Cheo Thau พิธีนี้เป็นหนึ่งในการประโคมที่เจ้าบ่าวนำขบวนของ serunai (เครื่องดนตรี), นักดนตรี, ผู้ชายที่ถือร่มและโคมไฟ กลุ่มทั้งหมดจะดำเนินการต่อไปยังที่อยู่อาศัยของเจ้าสาวหลังจากพิธีทางศาสนาที่บ้านของเขา หลังจากนั้นเป็นพิธี Chim Pang ซึ่งเป็นจุดนัดพบครั้งแรกระหว่างคู่รักที่เจ้าสาวจะนำเจ้าบ่าวเข้ามาในห้องเจ้าสาว พวกเขาจะดื่มชาและป้อนขนมอี๋หรือบัวลอยสีขาวหรือสีแดงขนาดเล็กในน้ำเชื่อมให้แก่กันซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตคู่หวานชื่น พิธีต่อไปเรียกว่า chianh sia เป็นพิธีที่เกิดขึ้นในห้องเจ้าสาว โดยเพื่อนๆและแขกฝ่ายเจ้าบ่าวจะเข้ามาแซวเพื่อทำให้เจ้าสาวหัวเราะ และหากเจ้าสาวหัวเราะโดยเกินกว่าจะควบคุมได้นั้นถือว่าเจ้าบ่าวต้องเลี้ยงอาหารมื้อเย็นเพื่อนๆและแขก พิธีสุดท้ายคือวันที่สิบสองเป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเจ้าสาวโดยแม่เจ้าบ่าวซึ่งโดยมากแล้วจะหลีกเลี่ยงเพราะเป็นการสร้างความเสื่อมเสียแก่เจ้าสาวนั่นเอง

แม้ว่ารายละเอียดและความซับซ้อนของการแต่งงานแบบเพอรานากันของชาวมาเลเซียและสิงคโปร์นั้นอาจแตกต่างจากภูเก็ต หากแต่การแต่งกายก็สามารถสะท้อนตัวตนของชาวเพอรานากันได้เป็นอย่างดี เพราะในพิธีแต่งงานนั้นเจ้าสาวจะสวมเสื้อตัวในเป็นเสื้อลูกไม้สีขาวคอตั้งแขนจีบ นุ่งผ้าลายปาเต๊ะ สวมเสื้อครุยผ้าป่านรูเปียหรือผ้ามัสลินปักลวดลาย ซึ่งจะเลือกสีคลุมโทนเดียวกับผ้านุ่ง ติดเครื่องประดับทองชุดใหญ่ที่เรียกว่า โกสัง มีเข็มกลัดชิ้นใหญ่ และอีก 3 ชิ้นเล็ก ใส่กำไลข้อเท้า ทำผมเกล้าสูง หรือที่เรียกว่าเรียกว่า ทรงซักอีโบย สวมรองเท้าปักดิ้นหรือลูกปัด ใส่มงกุฎทองมีชื่อเรียกว่า ดอกไม้ไหว ที่ทำด้วยทองคำ ส่วนเจ้าบ่าวแต่งกายชุดนายเหมือง หรือชุดสูทสากลติดดอกไม้ที่หน้าอก

การแต่งงานถือเป็นประเพณีที่แตกต่างไปตามภูมิสังคมและวัฒนธรรม แม้ปัจจุปันรูปแบบการแต่งงานอันยาวนานและซับซ้อนที่สอดแทรกสัญลักษณ์ต่างๆอันเป็นความเชื่อของคนโบราณไว้มากมายได้ลดเลือนไปตามกาลเวลา ความเชื่อและทัศนะคติเรื่องการครองชีวิตคู่ของคนรุ่นใหม่อาจเปลี่ยนไป แต่ไม่ได้หมายความว่าความมุ่งมั่นแห่งการเริ่มป็นคู่ชีวิตของหนุ่มสาวเปลี่ยงแปลง เพราะเมื่อเริ่มต้นเป็นครอบครัวแล้วความตั้งใจในการประคับประคองชีวิตคู่ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นย่อมเป็นลำดับแรก ฉะนั้นแล้วการลดทอนรายละเอียดบางอย่างของการแต่งงานแบบโบราณย่อมเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน แต่หากมีจุดมุ่งหมายเพื่อความต้องการสืบสานประเพณีให้คงอยู่ ความมงคลย่อมเกิดแก่ชีวิตคู่ของลูกหลานชาวบาบ๋าภูเก็ตอย่างแน่นอน

 

เอกสารอ้างอิง

The Peranakan – Bridal Chamber : Wedding Ceremony. Retreived January 29, 2018, from
http://gsndev.org/archives/webs/scgs/rooms/bridal/wed.html

เกร็ดความรู้ ประเพณีการแต่งงานบาบ๋า. สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม 2561 จาก https://wedding.kapook.com/view70385.html