เทศกาลถือศีลกินผัก ประเพณีอันเลื่องชื่อในจังหวัดภูเก็ต
ช่วงเวลาเดือนตุลาคมของทุกปีที่เป็นเวลาแห่งการถือศีลกินเจของผู้ที่มีความเชื่อเรื่องการชำระล้างจิตใจโดยการละเว้นเนื้อสัตว์นั้น แน่นอนว่าภูเก็ตย่อมเป็นอีกหนึ่งในปลายทางที่หลายคนอยากเดินทางไปสัมผัสวันเวลาแห่งเทศกาลอันมีอัตลักษณ์เฉพาะตนในชื่อว่า “เทศกาลถือศีลกินผัก” แน่นอน
ประเพณีถือศีลกินผัก(เจี่ยะฉ่าย)จังหวัดภูเก็ตนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อช่วงที่ย้ายเมืองถลางกลับมาที่เกาะแถวบริเวณอำเภอกะทู้ในปัจจุบัน บริเวณดังกล่าวเต็มไปด้วยแร่ดีบุกซึ่งทำให้มีชาวจีนอพยพมาทำกิจการเหมืองแร่จำนวนมาก จึงเกิดเป็นชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ขึ้น ต่อมาได้มีคณะงิ้วจากประเทศจีนเดินทางมาเปิดการแสดง แล้วเกิดโรคระบาดขึ้น คณะงิ้วคิดว่าพวกตนยังไม่ได้ประกอบ “พิธีเจี่ยะฉ่าย” (กินผัก) ที่เคยปฏิบัติเป็นประจำทุกปีจึงได้จัดให้มีพิธีกินเจและสร้างศาลเจ้า (ศาลเจ้ากะทู้ในปัจจุบัน) เพื่อทำพิธีเพื่อบวงสรวงเทพเจ้า “กิ๋วอ๋องไต่เต่” (พระราชาธิราชทั้ง 9 องค์) และ “ยกอ๋องซ่งเต่” (พระอิศวร) การประกอบพิธีถือศีลกินผักของคณะงิ้วคราวนั้นทำให้หายจากโรคภัยทั้งสิ้นสร้างความศรัทธาแก่ชาวบ้านอย่างยิ่งจนนำไปปฏิบัติตาม โดยเริ่มระยะเวลาในการถือศีลกินผักตั้งแต่ วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 รวม 9 วัน 9 คืน เพื่อความเป็นมงคลแก่ตนเองและบ้านเมือง หลังจากปฏิบัติเช่นนั้นอยู่เพียงไม่กี่ปีชาวกะทู้มีความเลื่อมใสในการถือศีลกินผักมากขึ้นจึงอยากได้พิธีกินเจตามแบบพิธีที่มณฑลกังไส ประเทศจีน จึงมีผู้อาสาไปอัญเชิญเหี่ยวโห้ย หรือ เหี่ยวเอี้ยน (ควันธูป) และเลี่ยนตุ่ย (ป้ายชื่อ) พร้อมทั้งคัมภีร์ต่างๆ ที่ใช้ในพิธีกินผักมาจากประเทศจีน ในระหว่างการเดินทางกลับก็ได้มีการจุดธูปมาตลอดทาง โดยผู้อาสาเดินทางกลับมาถึงในวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 9 เมื่อชาวบ้านทราบข่าว จึงได้จัดขบวนไปรับ ที่บ้านบางเหนียว อันเป็นกำเนิดของพิธีรับพระ
ประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ตจัดขึ้นทั้งหมดเป็นเวลา 9 วัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อชำระล้างบาปเคราะห์ ปฏิบัติธรรม ถือศีลให้สะอาดบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ ซึ่งผู้สวมชุดสีขาวจะต้องถือศีลห้า นอกจากนี้ตลอด 9 วันของพิธีกินผัก จะมีพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีอัญเชิญลำเต้า – ปักเต้า (เทวดาผู้กำหนดเวลา เกิด และ ตาย) พิธีอิ้วเก้ง (พิธีแห่พระ) พิธีอาบน้ำมัน ขึ้นบันไดมีด พิธีโก้ยโห้ย (ลุยไฟ) พิธีโก้ยห่าน (สะเดาะเคราะห์) ตลอดจนการทรงพระ ซึ่งเป็นการอัญเชิญเจ้า มาประทับในร่าง ของม้าทรง และแสดงอิทธิฤทธิ์ ด้วยการทรมานร่างกาย ในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ก็เพื่อรับทุกข์ แทนผู้ถือศีลกินผัก และเพื่อความเป็นสิริมงคล แก่บ้านเมืองกล่าวกันว่า ผู้ที่จะเป็นม้าทรงได้ มีอยู่ด้วยกัน 2 กรณี คือ
1 ผู้ที่ชะตาขาดแต่ยังไม่ถึงฆาต ดังนั้นการเป็นม้าทรงจึงเปรียบเสมือนการต่ออายุขัย
2 ผู้ที่พระเห็นว่าเหมาะสม เนื่องจากประพฤติตัวอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม
นอกจากนี้ในระหว่างเทศกาลจะมีการประโคมด้วยกลองล่อโก๊ะและจุดประทัด โดยเฉพาะในวันส่งพระ ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลเนื่องจากความเชื่อที่ว่าเสียงที่ดังจะทำให้สิ่งชั่วร้ายหมดไป
อาจกล่าวได้ว่าเทศกาลถือศีลกินผักนั้นมีพื้นฐานจากความศรัทธาและความเชื่ออย่างแท้จริง การละเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่นเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการนำไปสู่พิธีกรรมย่อยอีกมากมาย แต่ทั้งหมดทั้งมวลหากผู้ปฏิบัติเข้าใจถึงแก่นแท้ของเรื่องราวย่อมทำให้ร่างกายแข็งแรงอีกทั้งเกิดความสะอาดผ่องใสในจิตใจได้อย่างแน่นอน
ข้อมูลอ้างอิง
https://phuketindex.com/travel/photo-stories/s-fes-phuket-vegetarian/index-th.htm
https://www.triptravelgang.com/travel-thailand/3567/